วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ยินดีต้อนรับ



สวัสดีค่ะ ผู้เข้ามาเยี่ยมชมทุกท่าน  บล็อกนี้จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการอบรมมาตรฐานวิชาชีพครู มาตรฐานที่ 8 นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา

Tablet VS Thai Learner
แทบเบล็ต”... กระดานชนวนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษา นวัตกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนตามยุคสมัย กับความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า
ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมใหม่อย่าง “แทบเบล็ต” (Teblet) กำลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายมากขึ้น ล่าสุดนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของรัฐบาลนั้นได้เร่งพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้เป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพและกระจายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งตามนโยบายดังกล่าว “แทบเบล็ตเพื่อการศึกษา” ได้ก้าวเข้ามาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในอนาคตที่จะสร้างมิติแห่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการศึกษาไทย
จากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ  สู่การใช้โน็ตบุกที่พกพาได้ง่ายกว่า  จากนั้นก็ก้าวกระโดดไปสู่การใช้แทบเล็ตอย่างแพร่หลายขึ้น และมีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วเข้าถึงง่ายขึ้น
“แทบเบล็ต” ....สามารถใช้ทำอะไรได้บ้าง  มีจุดเด่นจุดดีอย่างไร  จะนำมาใช้ในการศึกษาได้อย่างไร...  ผู้อ่านหลายท่านคงยังสงสัยกันอยู่
ในงานประชุมวิชาการไอซีทีเพื่อการศึกษาไทย (ICTed2012) ภายใต้หัวข้อ “ภาวะการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ในศตวรรษที่ 21” ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)  ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงนวัตกรรมใหม่นี้ผ่านการบรรยายทางวิชาการ และการประชุมปฏิบัติการ อาทิ เปิดโลกแทบเบล็ต Tablet  ชานชลาสังคมเพื่อการศึกษาในศตวรรษที่ 21 การสร้างสื่อการเรียนการสอนสำหรับแทบเบล็ต  การเรียนรู้ผ่านสื่อสังคม การสร้างแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนในรูปแบบดิจิทัลออนไลน์ เป็นต้น
รศ. ยืน  ภู่วรวรรณ  อดีตรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างแทบเบล็ตกับโน๊ตบุก แทบเบล็ตมีข้อได้เปรียบตรงที่สามารถใช้งานได้ในสถานที่ต่างๆสะดวก เพราะไม่มีแป้นพิมพ์ ถือมือเดียวก็ใช้งานได้  น้ำหนักเบา กินไฟน้อยกว่า ใช้หน้าจอแบบสัมผัส  มีความคล่องตัวเพราะใช้กับโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นสำเร็จรูป  แต่ข้อด้อยกว่าโน๊ตบุกก็คือ  ป้อนข้อมูลได้ช้าและไม่ค่อยสะดวก ไม่เหมาะที่จะป้อนข้อมูลจำนวนมากๆ แบบแป้นพิมพ์  แทบเบล็ตนั้นถ้าจะใช้งานให้ดีต้องต่อกับเครือข่าย เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากโลกอินเทอร์เน็ต   ขอบเขตการใช้งานจึงจำกัดกว่า มีความเสี่ยงที่หน้าจอจะเสียหายได้มากกว่า
แท็บเบล็ตเป็นเหมือนเครื่องมือที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย  ข้อมูลข่าวสารมีการปรับเปลี่ยนเร็วและเทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง  องค์ความรู้มีมาก เกิดใหม่และขยายตัวเร็วมาก  สามารถเข้าถึงความรู้ได้เร็วกว่าที่จะจดจำเอง   รูปแบบการศึกษาที่ต้องเปลี่ยนจากการสอนเป็นการเรียนรู้และแสวงหาด้วยตนเอง   เปลี่ยนการเน้นเนื้อหาในกรอบหลักสูตรมาเป็นเน้นทักษะ ความคิดและกระบวนการ  ซึ่งแม้ว่าหลักสูตรที่ประกาศใช้โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้บ้างแล้ว  และสถานศึกษาก็ปรับตัวให้ความสำคัญในจุดนี้...แต่ก็ยังช้ามาก  ซึ่งเมื่อมองภาพรวมแล้ว ยังเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนอย่างไม่เป็นรูปธรรมมากนัก
“การศึกษาในยุคใหม่นั้นกระบวนการเรียนรู้มีความสำคัญมากกว่า  ครูมิใช่ผู้มอบความรู้ แต่เป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เรียน องค์ความรู้นั้นมีเกิดใหม่และมากมาย คนรุ่นใหม่ควรได้รับการพัฒนาให้เรียนรู้ได้เองตลอดชีวิต มีทักษะและกระบวนการอ่าน เขียนเป็นในยุคดิจิทัล การใช้แทบเบล็ตต้องเน้นที่กระบวนการเรียนรู้  และใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นด้วย ไม่ใช่เป็นการนำเอาแทบเบล็ตมาแทนหนังสือหรือสื่อ แต่ต้องเน้นที่นำแทบเบล็ตมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้”
รศ. ยืน ภู่วรวรรณ  ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาการใช้แทบเบล็ตในค่าย Cubic Creative Camp 7 ที่ได้ศึกษาและทดองใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ทักษะชีวิต การแก้ปัญหา และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมๆ กับเน้นให้เกิดการแสวงหาเรียนรู้โดยใช้ความสนุกเป็นตัวนำที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็ก เพื่อสร้างความประทับใจในการเรียนรู้   ในค่ายนี้แท็บเบล็ตได้รับการนำมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างทักษะการเรียนรู้ การทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เป็นหนังสือหรือที่เก็บสื่อแต่ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้เป็น “ตัวเชื่อมโยงกิจกรรม”  ซึ่งพบว่า สามารถสร้างระดับการเรียนรู้ การแสวงหาความรู้ของผู้เรียนได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และความสนุกจะช่วยสร้างความประทับใจ ทำให้เกิดทักษะและการจดจำไปได้นานๆ
คุณลักษณะของแท็บเล็ตที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้นั้น สามารถสนองต่อความต้องการทางการเรียนรู้รายบุคคล สามารถติดตามช่วยเหลือให้ผู้เรียนบรรลุผลการเรียนรู้ได้ เป็นสื่อที่ทำให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างมีความหมาย ซึ่งการเรียนรู้บางครั้งต้องอาศัย “การจำลองสถานการณ์” หรือ “การทดลองเสมือนจริง”  ต่าง ๆเพื่อการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งแท็บเล็ตจะมีศักยภาพสูงในเรื่องนี้ ช่วยในการแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ผ่านช่องทางสื่อสารหรือเครือข่ายสังคมต่าง ๆ   มีการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่ชัดเจนและยืดหยุ่น  มีการประเมินผลการเรียนรู้ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนทราบความก้าวหน้าทางการเรียนรู้และนำไปสู่การปรับปรุงตนเอง  และช่วยให้เข้าถึงเนื้อหาสาระข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณภาพ …
……การใช้แทบเบล็ตให้ได้ผลจึงขึ้นอยู่กับครูที่จะออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก และผสมผสานเข้ากับกระบวนการต่างๆ ในโรงเรียน  ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่าการบรรจุสื่อลงในแทบเล็ต โดยไม่จำเป็นต้องใช้แทบเบล็ตเป็นจำนวนมาก
“เด็กๆ เมื่ออยู่ในการเรียนรู้โดยใช้แทบเบล็ตตั้งแต่เล็ก จะรับรู้และคุ้นเคยกับเทคโนโลยี และจะสร้างโลกส่วนตัว เริ่มรู้สึกว่ามีอิสรภาพทางความคิด สังคมและความรู้มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว อุปกรณ์เครื่องมือที่เป็นวัตถุจะมีความสำคัญมากล้นแต่จิตวิญญานอาจจางล ง โลกจะกลับมาทำให้ผู้คนไม่สนใจคนข้างเคียง ดังจะเห็นได้ในเยาวชนสมัยนี้ไม่ค่อยสนใจในสิ่งรอบๆ ตัว  ไม่อยากพูดคุยกับคนที่อยู่ใกล้  แต่อยู่หน้าจอพูดคุยกับคนที่อยู่ในโลกใหม่   ไม่มีระยะทางและระยะเวลามากั้นขวางภายใต้เทคโนโลยีใหม่
แต่อย่างไรก็ตามแทบเบล็ตเป็นเพียงเทคโนโลยีอุบัติใหม่ ที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่กระแสความสนใจในสังคมโลกอย่างกว้างขวาง ซึ่งอนาคตในการใช้เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ยังมีการพัฒนาอีกยาวไกล  เหนือสิ่งอื่นใดในการศึกษาต้องเน้นสร้างจิตวิญญานของการเรียนรู้  การคิดเป็น ต่อยอดความรู้ที่หามาได้ เน้นกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนเป็นหลัก มากกว่าการสอนหรือป้อนความรู้ให้เด็ก  เรายังมีความท้าทายรออยู่ในอนาคตอีกมาก เพราะอายุของเทคโนโลยีสมัยใหม่สั้นมาก” รศ. ยืน กล่าว
อย่างไรก็ตามการนำแทบเบล็ตมาใช้เพื่อการศึกษานั้นต้องมีการวางแผนและการปรับใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างรอบคอบ   ต้องไม่คิดในกรอบเดิมที่การเรียนจะต้องมาจากตำรา หรือสื่อ และพยายามที่จะนำสื่อบรรจุในแทบเบล็ต แล้วให้เด็กนำไปอ่าน การใช้แทบเบล็ตต้องคิดให้ครบทุกด้าน ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีอย่างเพียงพอ มีการออกแบบกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้แทบเบล็ต   มีการสร้างวิธีการ  แสวงหา  เรียนรู้  นำเสนอ และกิจกรรมที่ใช้ประกอบการเรียนของเด็กมีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุนและได้ประสิทธิผลสูงสุด มีการเสริมสร้างความมั่นใจของครูที่จะไปจัดกิจกรรม   และที่สำคัญครูและผู้เรียนจะต้องสร้างสมรรถนะทางคอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) ให้เหมาะสมเพื่อรองรับกับการใช้งานร่วมกับผู้เรียนควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัยต่อไป

Is the Tablet suitable for Thai learners?